ชฎา คือเครื่องสวมศีรษะรูปคล้ายมงกุฎ โดยทั่วไปมียอดแหลม มีกรรเจียก (กระหนกข้างหู)ประดิษฐ์ขึ้นด้วยโลหะเช่นทองหรือเงิน หรือวัสดุอื่นเช่นไม้ เปเปอร์มาเช่ หรือพลาสติก แล้วทาสีให้ดูเหมือนโลหะ ผิวด้านนอกของชฎาจะตกแต่งอย่างสวยงาม โดยการแกะสลัก ประดับอัญมณี กระจกสี และพวงดอกไม้
ื ชฎาที่เป็นเครื่องราชศิราภรณ์ส่วนใหญ่เรียกว่า "พระชฎา" หรือ "มงกุฎรอง" มีหลายชนิด ชฎามักใช้ในงานพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเจ้านายชั้นสูงและใช้ในงานนาฏศิลป์ วัฒนธรรมสมัยใหม่มีการใช้ชฎาเป็นเครื่องแต่งตัวในการเดินแบบ ถ่ายภาพยนตร์ และประกอบการแสดง
พระชฎา ๕ ยอด หรือพระชฎามหากฐิน ปัจจุบันมี ๔ องค์ คือ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ พระชฎามหากฐิน ๔ องค์นี้ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร มีส่วนประกอบ คือ มาลา เกี้ยว ส่วนยอดเป็น ๕ แฉก ยอดกลางสูง อีก ๔ ยอดเล็กและต่ำกว่า ปลายสะบัดไปข้างหลัง ตรงกระหม่อมติดกระจังโดยรอบเป็นชั้น ๆ มีกรรเจียกจร ตอนล่างส่วนยอดพระชฎาปักใบสน หรือขนนกวายุภักษ์ หรือขนนกการะเวกหรือดอกไม้ทองคำซึ่งทำคล้ายขนนก ที่เรียกว่า “ยี่ก่า” พระชฎา ๕ ยอดที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชื่อว่า “พระมหาชมพู” เพราะลงยาสีชมพูทั้งองค์ พระชฎา ๕ ยอดใช้สำหรับทรงในการพระราชพิธีสำคัญ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราเลียบพระนครหรือเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน พระชฎา ๕ ยอด เป็นเครื่องราชศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์และมีเครื่องต้นประกอบ
ชฎาพระกลีบ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชรมีส่วนประกอบคือ มาลาไม่มีเกี้ยว ส่วนยอดค่อนข้างแบนจำหลักเป็นกลีบ ปลายสะบัดไปข้างหลัง ตรงกระหม่อมติดกระจังมีใบสนและกรรเจียกจร เป็นเครื่องราชศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์และมีเครื่องต้นประกอบ
พระชฎาเดินหน สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นเครื่องราชศิราภรณ์ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และมีเครื่องต้นประกอบ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร มีส่วนประกอบคือ มาลากับเกี้ยว ส่วนยอดค่อนข้างแบน มีลวดลาย ปลายสะบัดไปข้างหลัง ตรงกระหม่อมไม่ติดกระจัง แต่มีสาแหรกแปดยึดมาลากับเกี้ยวให้ติดกัน มีใบสนและกรรเจียกจร พระชฎาเดินหนนี้ปรากฏว่าเคยพระราชทานให้เจ้านายบางพระองค์ทรงด้วย
ชฎาพอก ทำด้วยผ้าหรือกระดาษรูปลักษณะอย่างลอมพอกแต่มีเกี้ยว ประดับดอกไม้ไหวทำด้วยทองคำหรือเงินตามระดับฐานะ ชฎาพอกนี้ใช้สวมพระศพเจ้านายตลอดลงมาถึงขุนนางที่ได้รับเกียรติบรรจุโกศ ส่วนพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ใช้พระชฎามหากฐินของรัชกาลนั้น ทรงตามพระราชประเพณี หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จสวรรคตก่อน โดยที่ยังมิได้สร้างพระชฎามหากฐินไว้เป็นเครื่องทรงประจำพระองค์ เมื่อจะอัญเชิญพระบรมศพลงพระโกศ ก็ทรงพระชฎามหากฐินของพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นสวมถวาย
ชฎาแปลง ชฎารูปร่างคล้ายชฎกลีบ แต่ไม่มีลวดลายจำหลักหรือลายเขียน
ชฎาดอกลำโพง มีลักษณะอย่างเดียวกับมงกุฎจีบแต่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า ชฎาดอกลำโพง
ชฎามนุษย์ ชฎายอดพันผ้าใช้ในราชการ มีลักษณะอย่างลอมพอก
ชฎายักษ์ ชฎามีรูปทรงและลักษณะต่าง ๆ กันหลายแบบดังปรากฏในลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทาน ม.จ. พิไลเลขา ตอนหนึ่งดังนี้
"ชฎาที่เรียกว่ามนุษย์นั้นพิจารณาดูรูปจะเห็นว่ามีรูปเดียวคือเป็นอย่างลอมพอกไทย ที่ชฎายักษ์มียอดอุตริต่าง ๆ แต่ครั้นดูรูปภาพนครธม (นครวัด) ก็พบชฎายอดอุตริต่าง ๆ นั้นอยู่บริบูรณ์ จึงเห็นได้ว่ายักษ์ใส่ชฎาขอมนั่นเอง"
โขนละครในราชสำนักสุวรรณภูมิยุคแรกๆ สวมลอมพอก เมื่อนานเข้าก็มีพัฒนาการเป็นชฎา, มงกุฎ
ลา ลูแบร์ เมื่อดูโขนละครของราชสำนักอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์(ราชอาณาจักรสยาม โดย มร. เดอ ลา ลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510) จึงมีบันทึกว่า
โขนละคร “สวมชฎาทำด้วยกระดาษทองน้ำตะโก ทรงสูงปลายแหลมเกือบเหมือนลอมพอกของพวกขุนนาง แต่ครอบลงมาข้างล่างจนปรกใบหู”
ที่ ลา ลูแบร์ เห็นอย่างนั้นเป็นเพราะเมื่อเล่นเรื่องรามเกียรติ์ก็พรางหน้าจริงโดยสวมหน้ากากเป็นตัวต่างๆ แล้วสวมลอมพอกไว้บนหัวเมื่อเป็นตัวพระ, นาง และยักษ์ ลอมพอกสวมหัวค่อยๆ ประดิดประดอยประดับประดาจนถึงสมัยหลังๆ ก็เป็นชฎาตัวพระ และ มงกุฎตัวนาง
นักปราชญ์ราชบัณฑิตสยามอธิบายสอดคล้องกันว่าชฎามีต้นแบบจากลอมพอกที่เป็นเครื่องสวมศีรษะของเปอร์เซีย (อิหร่าน)
ลอมพอก เครื่องสวมศีรษะรูปยาว ยอดแหลม หรืออาจมนๆ ไม่แหลมนักก็ได้ ล้วนได้แบบจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา แล้วใช้เป็นเครื่องทรงพระเจ้าแผ่นดินกับเครื่องแบบขุนนางสยามยุคอยุธยา ต่อมามีพัฒนาการเป็นชฎาและมงกุฎ ใช้แต่งตัวโขนละครด้วย
ดังนั้น ที่อวดกันว่าโขนละครเป็นของไทยแท้ๆ จึงไม่จริง เพราะมีทั้งส่วนที่เป็น “วัฒนธรรมร่วม” พื้นเมืองสุวรรณภูมิ แล้วยังมีส่วนที่ได้จากอินเดียกับเปอร์เซียด้วย ถ้านาฏศิลป์โขนละครสะท้อนความเป็นไทยแท้ๆ ก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่าความเป็นไทยแท้ๆ ไม่มีจริง แต่ความเป็นไทยที่มีจริง
ประกอบด้วยวัฒนธรรมหลากหลายจนจำแนกไม่ได้ทั้งหมดว่ามีอะไรผสมปนเปอยู่บ้าง
ที่มา
: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
: จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖
: ประภัสสร์ ชูวิเชียร.คำอธิบายความเป็นมาของชฎาและมงกุฎ.มติชนสุดสัปดาห์ ลงฉบับประจำวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2554.
: ข้อหนดของการใช้เครื่องประดับสำหรับฝ่ายในและชนชั้นสูงในราชสำนัก.valuablebook2.tkpark.or.th/2015/6/document7.html.
สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน 2559.
: ชฏา.https://th.m.wikipedia.org/wiki/ชฎา.สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน 2559.
ลดาวัลย์. ชัยแสง (53010612049)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น